Home Business News หลังสหรัฐอเมริกา ตัดสิทธิ GSP ส่งผลกระทบต่อ Logistics อย่างไร

หลังสหรัฐอเมริกา ตัดสิทธิ GSP ส่งผลกระทบต่อ Logistics อย่างไร

by Giztix
2095 views
หลังสหรัฐอเมริกา ตัดสิทธิ GSP ส่งผลกระทบต่อ Logistics อย่างไร

จากกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ลงนามระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP กับสินค้าไทยที่มีมากถึง 573 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 39,650 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า “ประเทศไทยล้มเหลวในการให้สิทธิแรงงานภายในประเทศตามหลักสากล” ซึ่งสินค้าไทยที่อยู่ในรายการจะถูกตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2020

GSP ย่อมาจาก Generalized System of Preference หรือระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี เป็นระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ให้แก่สินค้าจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation หรือ WTO) ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา โดยไม่เรียกร้องผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากประเทศผู้รับสิทธิ วัตถุประสงค์ ก็เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาสามารถตั้งตัว แข่งขัน และเติบโตได้

ซึ่งในอดีตนั้นสหรัฐฯได้ยกเลิกการให้สิทธิ GPS แก่ประเทศต่างๆ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ เช่น กรณีไม่คุ้มครองสิทธิแรงงาน ได้แก่ ประเทศเบลารุส ในปี 2000 ประเทศบังกลาเทศ ในปี 2013 และกรณีไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ ประเทศ ฮอนดูรัส ในปี 1998 ยูเครน ในปี 2001 และล่าสุดคือ ประเทศไทย แต่นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยเราถูกตัดสิทธิ GSP เพราะในปี พ.ศ. 2558 ไทยเคยโดนสหภาพยุโรป ตุรกี และแคนาดา ตัดสิทธิ GSP มาแล้ว  และในช่วงเดือน เม.ย. ปี 2019 นี้เอง ประเทศญี่ปุ่นก็ได้ตัดสิทธิ GSP ที่เคยให้กับไทยไปด้วย โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิทางภาษีสินค้าไทย โดยระบุว่าปัจจุบันสหรัฐให้สิทธิ GSP สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งหมด 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยไม่ได้ใช้สิทธิ์เต็มตามจำนวนที่ให้สิทธิ์ โดยใช้สิทธิ์แค่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น โดยผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP จะทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ จะต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐ ซึ่งจากเดิมไม่ต้องเสีย โดยจะต้องเสียภาษีเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4-5 ซึ่งภาระทางภาษีแต่ละปี เมื่อคำนวณแล้วประมาณ 1,500 – 1,800 ล้านบาท ส่งผลให้สินค้าไทย 573 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทของกินและของใช้ อาทิ อาหารทะเล ผักและผลไม้ เมล็ดพันธุ์ น้ำเชื่อมและน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผักและน้ำผลไม้ ไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องครัว ประตูหน้าต่าง ไม้อัดและไม้แปรรูป ตะกร้า ดอกไม้ประดิษฐ์ จานชาม เครื่องประดับ เหล็กแผ่น สแตนเลส ฯลฯ

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การหารือกับนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทน เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้แจ้งว่า การตัดสิทธิครั้งนี้ถือว่ายังไม่มีผลอย่างเป็นทางการ ดังนั้นตนเองเห็นว่าน่าจะยังสามารถเจรจาพูดคุยกันได้ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน นายสมคิด ยืนยันว่า สิ่งที่สหรัฐฯเรียกร้องให้ไทยปฏิบัตินั้น ทางการไทย ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องของแรงงาน แต่ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยรัฐบาลได้มีแนวทางแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยพยายามหาทางยกเลิกระบบภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรแปรรูป และภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ เพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้ขึ้นกับราคาเพียงอย่างเดียวแต่ยังประกอบไปด้วยปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ คุณภาพสินค้า ความตรงต่อเวลาในการส่งสินค้า และความรู้ความเชี่ยวชาญในสินค้าและตลาดที่ส่งออก ผู้ส่งออกจึงควรหันมาทบทวนการจัดการด้านระบบการผลิตการเกษตรให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งควบคุมมาตรฐานการผลิตให้ได้มาตรฐานระดับโลก เช่น ISO สำหรับตลาดส่งออกโดยเฉพาะตลาด EU ผู้ส่งออกอาจสูญเสียผู้ซื้อในตลาดนี้ไปบ้าง เพราะราคาสินค้าสูงกว่าคู่แข่งในประเทศที่ไม่ถูกตัดสิทธิพิเศษนี้ ดังนั้นผู้ส่งออกควรทำการศึกษาตลาดนั้นๆ อย่างละเอียด พร้อมทั้งทำการตรวจสอบผู้ซื้อเกี่ยวกับ สถานะการดำเนินงาน สถานะการเงิน ประวัติการชำระเงิน สภาพตลาดของสินค้านั้นๆ ในประเทศผู้ซื้อ และในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ส่งออกสามารถทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและมั่นใจในการขยายการชำระเงินให้ผู้ซื้อรายเดิมหรือการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ได้จัดให้มีบริการประกันการส่งออก ซึ่งเป็นบริการที่ช่วยเหลือผู้ส่งออก ในการลดความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระค่าสินค้า จากผู้ซื้อในเทอมการชำระเงิน แบบ Documents against Payment (D/P), Documents against Acceptance (D/A) หรือ Open Account (O/A) โดย ธสน. จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ส่งออก หากผู้ส่งออกสินค้าไปแล้วไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า ทั้งกรณีอันเกิดจากความเสี่ยงทางการค้า และความเสี่ยงทางการเมืองโดย ธสน.จะทำการตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อ บริการประกันการส่งออกจึงเป็นบริการที่ช่วยลดความเสี่ยงของผู้ส่งออกในการขายสินค้า และสนับสนุนการขยายตลาดของผู้ส่งออก เป็นต้น

ดังนั้นกรณีไม่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล จะส่งผลให้สินค้าไทย 573 รายการ ถูกตัดสิทธิโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2020 อย่างไรก็ตามหากไทยสามารถกระจายความเสี่ยงในการส่งออกสินค้าที่ถูกตัดสิทธิไปยังตลาดอื่นๆได้ จะช่วยลดกระทบต่อการส่งออกไทยได้ และหากประเทศที่ถูกยกเลิก GSP มีการปรับปรุงและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะได้สิทธิ GSP กลับคืนมา ในขณะที่ประเทศไทยของเรายังมีเวลาในการเจรจา และสามารถที่จะอุทธรณ์หรือขอให้ทบทวนใหม่ได้ แต่นั้นก็ขึ้นอยู่กับทาง ‘สหรัฐอเมริกา’ ด้วยเช่นกัน หากการหารือไม่สำเร็จประเทศไทยก็ยังมีแนวทางในการแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าแล้ว

อ้างอิง : naewna, news.mthai, mreport, matichon, thainews, ryt9

Leave a Comment