Home Knowledges อัพเดทเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล

อัพเดทเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล

by Giztix
7303 views
อัพเดทเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล

ประเทศไทยเริ่มมีรถไฟฟ้าใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2542 ด้วยแรงผลักดันของภาครัฐที่มุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหารถติด รวมทั้งอำนวยความสะดวกในเรื่องการเดินทางของคนกรุงเทพ โดยได้มีแผนพัฒนา“โครงการรถไฟฟ้าหลากสี” ซึ่งมีทั้งสิ้น 13 เส้นทาง ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยเรามีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว 5 สาย ซึ่งยังมีอีกหลายโครงการกำลังก่อสร้าง และเตรียมเปิดให้บริการในเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันก็ยังมีการศึกษาเส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ GIZTIX จึงอยากมาอัพเดทความคืบหน้าของ รถไฟฟ้า ทั้ง 13 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ ให้ทราบกัน

โครงการที่เปิดใช้บริการ และกำลังเดินการสร้างส่วนต่อขยาย

รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม วงแหวนตะวันออก – บางปู มีแนวเส้นทางเป็นแนวเหนือ-ตะวันออก พาดผ่านพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรปราการ มีระยะทางรวมประมาณ 72.22 กิโลเมตร ทั้งหมด 68 สถานี
ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มเปิดให้บริการแล้ว 32 สถานี ตั้งแต่สถานีห้าแยกลาดพร้าว – เคหะฯสมุทรปราการ
ส่วนต่อขยายจากสถานี สถานีพหลโยธิน 24 – สถานีแยกเกษตร จะเปิดให้บริการในปลายปีพ.ศ. 2563 จำนวน 4 สถานี
และในปลายปีพ.ศ. 2564 จะเปิดให้บริการสถานีกรมป่าไม้ – สถานีวงแหวนตะวันออก จำนวน 15 สถานี
ในอนาคต รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม จะสร้างสถานีส่วนต่อขยายจากสถานีเคหะฯสมุทรปราการ – บางปู จำนวน 5 สถานี ระยะทางประมาณ 9.2 กิโลเมตร

รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ยศเส – ตลิ่งชัน โดยจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร มีระยะทางรวมประมาณ 22.17 กิโลเมตร ทั้งหมด 19 สถานี
ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนเปิดให้บริการแล้ว 12 สถานี คือสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีบางหว้า
และกำลังดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายสถานีบางหว้า – ตลิ่งชัน จำนวน 6 สถานี เป็นระยะทาง 7.5 กิโลเมตร ซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 เพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
อีกด้านของส่วนต่อขยายสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – ยศเส ซึ่งจะสามารถเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มได้ โดยจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2572 จำนวน 1 สถานี

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ – พุทธมณฑลสาย 4 มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครชั้นใน (ฝั่งพระนคร) กับฝั่งธนบุรีซึ่งมีจำนวนสถานีทั้งหมด 42 สถานี เป็นระยะทาง 55.8 กิโลเมตร ซึ่งจะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 16 กิโลเมตร อีกช่วงคือ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ เชื่อมต่อจากสถานีเตาปูนไปท่าพระ ระยะทาง 11 กิโลเมตร รวม 8 สถานี ได้แก่ สถานีบางโพ สถานีบางอ้อ สถานีบางพลัด สถานีสิรินธร สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีไฟฉาย และสถานีจรัญฯ 13 ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างทั้ง 2 ช่วงเสร็จสมบูรณ์แล้ว 100% อยู่ในช่วงให้ใช้บริการฟรีถึง 28 กันยายนนี้

รถไฟฟ้าสายท่าอากาศยาน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ จะเป็นการเชื่อมระหว่าง 2 สนามบิน ซึ่งมีระยะทางประมาณ 49 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วจำนวน 8 สถานี คือสถานีพญาไท – สนามบินสุวรรณภูมิ และกำลังดำเนินโครงการสร้างส่วนต่อขยายจากสถานีพญาไท ไปสิ้นสุดที่สถานีท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะทางประมาณ 21.8 กิโลเมตร จำนวน 5 สถานี โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในช่วงเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2564

รถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน – ราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายจากเดิม บางซื่อ – บางใหญ่  เริ่มจากสถานีเตาปูน ไปสิ้นสุดที่สถานีครุใน รวมระยะทาง 23.6 กิโลเมตร โดยเป็นโครงการสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กิโลเมตร รวม 17 สถานี ซึ่งจะเปิดให้ใช้บริการภายในปี 2569

โครงการในอนาคต

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี จุดเริ่มต้นเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผ่านสถานี ไปตามเส้นพระราม9 รามคำแหง และหัวหมาก จากนั้นยกระดับที่สถานีสัมมากร ไปตามเส้นมีนบุรี และสิ้นสุดโครงการที่สุวินทวงศ์ รวมเป็นระยะทาง 22.57 กิโลเมตร มีจำนวน 17 สถานี แบ่งออกเป็นเส้นทางยกระดับ 10 สถานีและเส้นทางใต้ดิน 7 สถานี สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ได้แก่ สายสีน้ำเงิน(บางซื่อ-หัวลำโพง) คาดจะเปิดให้บริการ 2566  

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว – สำโรง ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง โดยมีระยะทาง 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี ต้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีลาดพร้าว ไปตามถนนลาดพร้าว เลี้ยวเข้าศรีนครินทร์ โดยมีจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีลำสาลี และรถไฟฟ้า Airport Rail Link ที่สถานีพัฒนาการ (สถานีหัวหมากของรถไฟฟ้า Airport Rail Link) จุดเชื่อมต่อเหล่านี้นำไปสู่ย่านธุรกิจและการศึกษา และไปสิ้นสุดที่สำโรง สมุทรปราการ ซึ่งตามแผนงานมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2564

รถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางศูนย์ราชการนนทบุรี – มีนบุรี มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี เริ่มต้นที่สี่แยกแคราย วิ่งตามแนวถนนสายหลักถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ และรามอินทรา ไปถึงที่เขตมีนบุรี โดยผ่านจากแหล่งที่อยู่อาศัยในนนทบุรี เขตชานเมืองกรุงเทพฯ โดยจะผ่านสถานที่สำคัญ เช่น กรมชลประทาน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมืองทองธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ตลาดนัดจตุจักร 2  รามอินทราและวัชรพล จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) รถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางกะปิ-มีนบุรี) กำหนดเปิดให้บริการได้ปี 2564

รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ธรรมศาสตร์รังสิต – มหาชัย มีแผนงานระยะทางรวม 114.3 กม. จำนวน 36 สถานี เป็นเส้นทางหลักในแนวเหนือ-ใต้ ตามแนวทางรถไฟเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย เชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองด้านทิศเหนือ (พื้นที่ดอนเมือง รังสิต ปทุมธานี อยุธยา) และพื้นที่ชานเมืองด้านทิศใต้ (พื้นที่บางบอน มหาชัย) เข้าสู่ใจกลางเมือง (หัวลำโพง)
ปัจจุบันการก่อสร้างดำเนินการเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือ บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กม. มี 10 สถานี อีกช่วงคือเป็นส่วนต่อขยายจากสถานีบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทางรวม 5 กม. จำนวน 5 สถานี อีก และคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการได้ใน ปี 2564
ส่วนแผนการทำโครงการส่วนต่อขยายจากรังสิต-ธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีคลองหนึ่ง สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีธรรมศาสตร์ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ใน พ.ศ. 2565 และอีกหนึ่งแผนคือส่วนต่อขยายจากสถานีหัวลำโพง-มหาชัย โดยมีระยะทาง 38 กม. จำนวน 17 สถานี ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ศาลายา – ตลิ่งชัน – ศิริราช  ในช่วงที่หนึ่งคือช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน มีระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 7 สถานี เตรียมเปิดให้บริการในปี 2563 ช่วงที่ 2 ตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 8 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี คาดจะเปิดให้บริการในปี 2565 ช่วงที่ 3 ส่วนต่อขยายจากสถานีตลิ่งชัน – ศาลายา ยังอยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา ช่วงที่ 4 บางบำหรุ – มักกะสัน ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา และช่วงที่ 5 มักกะสัน–หัวหมาก ระยะทาง 10 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี ยังอยู่ในการพิจารณา

รถไฟฟ้าสายสีฟ้า ดินแดง – สาทร มีระยะทางรวม 9.5 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี โดยมีแนวเส้นทางจากเคหะชุมชนดินแดง เข้าสู่ศูนย์คมนาคมมักกะสันไปยังถนนวิทยุ และถนนสาทร กำหนดให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2572

รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – พระโขนง – สะพานพระราม 9 – ท่าพระ ระยะทางรวม 29 กิโลเมตร จำนวน 39 สถานี ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 วัชรพล-ทองหล่อ ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ระยะทางประมาณ 16.25 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี โดยมีจุดเชื่อมต่อ 4 สถานี 1. สายสีชมพูที่สถานีวัชรพล 2.สายสีเหลืองที่สถานีฉลองรัช 3.สายสีส้มที่สถานีพระราม 9 4.สายสีเขียวเข้มที่สถานีทองหล่อ
ช่วงที่ 2 พระโขนง-พระราม 3 มีระยะทาง 12.7 กิโลเมตร จำนวน 15 สถานี
และช่วงที่ 3 พระราม 3 – ท่าพระ มีระยะทาง 11.48 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี ทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย – บึงกุ่ม ระยะประมาณ 22.3 กิโลเมตร 20 สถานี โดยจะเชื่อมต่อเมืองด้านฝั่งแครายไปสู่ฝั่งบางกระปิ และสามารถเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าหลักอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม รถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีส้ม อีกทั้งยังเชื่อมกับโครงข่ายรองอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสีเทา แผนมีกำหนดก่อสร้างปี 2563-2564 และมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2568

ข้อมูลจาก blog ananda / ddproperty

Leave a Comment