Home Knowledges เชื่อมโยงความสัมพันธ์ พัฒนาการค้าด้วย “เส้นทางสายไหมใหม่”

เชื่อมโยงความสัมพันธ์ พัฒนาการค้าด้วย “เส้นทางสายไหมใหม่”

by Giztix
3412 views
เชื่อมโยงความสัมพันธ์ พัฒนาการค้าด้วย “เส้นทางสายไหมใหม่”

ในอดีตสมัยราชวงศ์ฮั่น (กว่า 2000 ปี) จีนต้องการขยายบททางการค้าและการลงทุน ระหว่างประเทศจีนกับยุโรปด้วยเครือข่ายเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางทะเล โดยที่ผู้คนจากใจกลางแผ่นดินจีนจะนำสินค้าไปค้าขายทางฟากตะวันตก และสินค้าจากฟากตะวันตกก็ถูกนำเข้าสู่เมืองจีนด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกจากสินค้าที่ถูกขายต่อเป็นทอดๆแล้ว ศิลปวัฒนธรรมก็ถูกถ่ายทอดส่งต่อมาทั้งสองฝากอารยธรรม จนเกิดการผสมผสานและพัฒนาของอารยธรรมทั้งสองฟากโลก จึงถูกขนานนามเส้นทางสายนี้ว่า “เส้นทางสายไหม” ที่มีระยะทางยาวราวๆ 6,437 กิโลเมตร

คำว่า “เส้นทางสายไหม” หรือ “Silk Road” เพิ่งถูกเรียกอย่างเป็นทางการในกลางศตวรรษที่ 19 โดยนักปราชญ์ชาวเยอรมัน ชื่อว่า Baron Ferdinand von Richthofen เขาเป็นผู้บัญญัติชื่อนี้ขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับ ถึงแม้จะมีคนพยายามเรียกเป็นอย่างอื่น อย่างเส้นทางหยก เส้นทางอัญมณี เส้นทางพุทธศาสนา เป็นต้น  เส้นทางนี้ เริ่มจากทางตะวันออกที่เมืองฉางอันหรือซีอันในปัจจุบันของประเทศจีนไปสิ้นสุดที่ทางทิศตะวันตกของกรุงโรม

ต่อมาในศตวรรษที่ 21 จีนเปิดการค้ามากขึ้น หวังเชื่อมนานาประเทศเกาะเกี่ยวกันด้วย “One Belt, One Road” หรือเส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งมีรากฐานมาจากเส้นทางสายไหมในอดีต โดยในปี 2013 นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้แถลงเปิดตัวครั้งแรกถึงการริเริ่มโครงการ “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” ที่ประกอบด้วยเครือข่ายถนน เส้นทางรถไฟ เส้นทางทางทะเล เพื่อเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเอเชียกลาง

เส้นทางสายไหมใหม่ประกอบไปด้วย เส้นทางขนส่งทางบกอันได้แก่ ถนน ทางรถไฟ เป็นหลัก และเส้นทางขนส่งทางน้ำ อันประกอบไปด้วยบรรดาท่าเรือในประเทศต่างๆ “One Belt, One Road” หรือเส้นทางสายไหมใหม่จะทำให้จีนสามารถขยายการค้าขายสินค้าและบริการได้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้สกุลเงินหยวนของจีนถูกนำไปใช้ในการค้าขายมากขึ้นส่งผลทำให้ สกุลเงินของจีนได้รับยอมรับกันมากในสากล ซึ่งจะทำให้สกุลเงินของจีนมีบทบาทและอิทธิพลมากในอนาคต

สำหรับจีนแล้วการมุ่งตะวันตกและการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใน จำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road เป็นเครื่องมือสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศ ถ้าประสบความสำเร็จจะกลายเป็นเครื่องจักรสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของเอเชีย

Leave a Comment