Home Knowledges รู้จักกับการ Import,Export สินค้า และภาษี

รู้จักกับการ Import,Export สินค้า และภาษี

by Giztix
60306 views
รู้จักกับการ Import,Export สินค้า และภาษี

การนำเข้าและการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจนั้นมีการเติบโตมากขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าสามารถหาสินค้าที่มีรูปแบบใหม่ คุณภาพดี หรือราคาถูกกว่าในประเทศของตน และผู้ส่งออกสามารถขายสินค้าที่ตนเองผลิต ไปยังประเทศต่างๆ ได้ นอกจากนี้การนำเข้าและการส่งออกสินค้ายังเป็นตัวชี้วัดรายได้ของประเทศอีกด้วย

การนำเข้า (Import) คือ การนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาภายในประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์หรือเพื่อประกอบธุรกิจ โดยสินค้าที่นำเข้ามักเป็นสินค้าที่ไม่มีในประเทศหรือผลิตในประเทศไม่ได้ ซึ่งในการนำเข้าสินค้า ผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กรมศุลกากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งสินค้าที่ประเทศไทยมักนำเข้ามาจากต่างประเทศคือ สินค้าประเภทวัตถุดิบ (สินค้าที่นำมาเป็นหัวเชื้อในการผลิตสินค้า เช่น Sodium) สินค้าทุน (เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต) สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าจากอุตสาหกรรมยานยนต์

เอกสารสำหรับการนำเข้าสินค้า

  1. ใบขนสินค้าขาเข้า (Import Declaration)
  2. ใบตราส่งสินค้าทางเรือ (B/L-Bill of Lading), ทางอากาศ (AWB-Air Way Bill)
  3. บัญชีราคาสินค้า (Invoice)
  4. บัญชีรายละเอียดบรรจุหีบห่อ (Packing List)
  5. ใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตสำหรับสินค้าควบคุมการนำเข้า (ถ้ามี) (Import License)
  6. ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (กรณีขอลดอัตราอากร) (Certificates of Origin)
  7. เอกสารอื่น ๆ เช่น แคตตาล็อก เอกสารแสดงส่วนผสม ฯลฯ

การส่งออก (Export) คือการจัดส่งสินค้าหรือการขายสินค้าและบริการในประเทศไปสู่ตลาดอื่น จากต้นทางสู่ปลายทางในทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ ในการส่งออกสินค้าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมศุลกากร ซึ่งในการส่งออกสินค้าการผ่านพิธีการศุลกากรสามารถทำได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยการส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานที่ศุลกากรกำหนดไว้ และกรมศุลกากรจะทำการดำเนินงานต่อเพื่อให้สินค้าสามารถส่งออกได้ สินค้าส่วนใหญ่ที่ประเทศไทยส่งออกไปต่างประเทศคือสินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร อัญมณี เชื้อเพลิง และสินค้าอุตสาหกรรม (สินค้าที่ใช้ประกอบการผลิต หรือใช้ในกระบวนการผลิต เช่น เหล็กที่ใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์)

เอกสารสำหรับการส่งออกสินค้า

  1. ใบขนสินค้าขาออก (Export Declaration)
  2. บัญชีราคาสินค้า (Invoice)
  3. ใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตสำหรับสินค้าควบคุมการส่งออก (ถ้ามี) (Export License)
  4. ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (ถ้ามี) (Certificates of Origin)
  5. เอกสารอื่น ๆ เช่น แคตตาล็อก เอกสารแสดงส่วนผสม ฯลฯ

การนำเข้าและส่งออกสินค้าจะมีการเก็บ ภาษีศุลกากร หรือ Customs Duty ที่เรียกว่า อากร หมายถึง เงินรายได้ของประเทศที่กฎหมายกำหนดให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานจัดเก็บจากการนำของเข้ามาหรือส่งของออกไปต่างประเทศ ตามที่บัญญัติในกฎหมายศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ตลอดจนกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร

อากรขาเข้า คือ การเก็บภาษีจากสินค้าที่นำมาใช้หรือบริโภคในราชอาณาจักร ซึ่งการคำนวณค่าภาษีให้คำนวณตามสภาพสินค้า ราคาสินค้า และพิกัดของอัตราศุลกากร ที่อยู่ในความรับผิดชอบที่ต้องเสียภาษี ปกติเมื่อมีการเก็บอากรขาเข้า จะต้องมีการเก็บภาษีชนิดอื่นควบคู่ไปด้วย ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และค่าธรรมเนียมตามกฎหมายต่างๆ โดยหลักการคำนวณอากรขาเข้าสามารถทำได้โดย การนำ ราคา CIF อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต(ถ้ามี) ภาษีกรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ (ถ้ามี) มารวมกัน จึงจะได้อากรขาเข้าที่ต้องจ่ายทั้งหมดในการนำเข้าสินค้า

อากรขาออก คือการเสียภาษีหรือจ่ายค่าธรรมเนียมก่อนนำสินค้าออกนอกประเทศ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้  โดย “ตัวแทนออกของศุลกากร” เพื่อที่จะสามารถส่งสินค้าไปต่างประเทศได้ ซึ่งกรมศุลกากรมีการกำหนดให้สินค้าที่ส่งออกทั้ง 9 ประเภทต้องเสียค่าภาษีส่งออก ได้แก่ ข้าว เศษโลหะ หนังโคและหนังกระบือ ไม้ (ไม้แปรรูปทุกชนิด) เส้นไหมดิบที่ไม่ได้ตีเกลี่ยว เส้นด้ายที่ทำด้วยไหม ปลาป่นหรือปลาอบแห้งที่ยังไม่ได้ป่น ของที่ส่งออกจากพื้นที่ที่พัฒนาร่วมตามกฎหมาย และของที่ยังไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในประเภทอื่นใดในพิกัดอัตราอากรขาออก โดยหลักการคำนวณอากรขาออกสามารถทำได้โดย การนำ ราคา FOB  ภาษีสรรพสามิต(ถ้ามี) ภาษีหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ(ถ้ามี) มารวมกัน จึงจะได้อากรขาออกที่ต้องจ่ายทั้งหมดก่อนการส่งออกสินค้า

** CIF คือ Cost = ราคาสินค้า Insurance = ประกันภัย Freight = ค่าขนส่งรหว่างประเทศ FOB คือ Free on Broad หรือ Freight on Board หมายถึง การที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าประกันภัย, ค่าภาษี, ค่าระวางบรรทุกสินค้า หรือค่าธรรมเนียมในการส่งออก       

 

   

Leave a Comment