เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 SCG ร่วมมือกับ GIZTIX สตาร์ทอัพด้านบริการขนส่งผ่านระบบออนไลน์และเทคโนโลยีได้จัดงานแถลงข่าวความคืบหน้าในการผสานพลังเพื่อยกระดับการให้บริการขนส่งของร้านผู้แทนจำหน่ายท่ัวประเทศ ผ่านดิจิทัลแพลทฟอร์มแบบครบวงจรเป็นครั้งแรกในไทย ซึ่งจะช่วยเสริมขีดความสามารถให้กับร้านผู้แทนจำหน่าย ในด้านการบริหารจัดการขนส่ง และการควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น ในการส่งมอบสินค้าให้ถึงมือลูกค้า โดยมี นายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธ์ิ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจจัดจำหน่ายและช่องทางค้าปลีก ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี และ นายสิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ประธานเจ้าหน้าท่ีบริหารและผู้ก่อต้ัง บริษัท จิซทิกซ์ จำกัด ร่วมแถลงข่าว ณ เอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ
นายวิโรจน์ ระบุว่า เป้าหมายการร่วมมือกันในครั้งนี้ คือ SCG ต้องการที่จะพัฒนาระบบการขนส่งให้กับร้านผู้แทนจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างของเอสซีจี ที่ปัจจุบันมีจำนวน 314 ร้านทั่วประเทศ ไปสู่ระบบดิจิทัลและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น SCG และ GIZTIX จึงได้พัฒนาดิจิทัลแพลทฟอร์ม เพื่อช่วยให้ร้านผู้แทนจำหน่ายสามารถขนส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้ตรงเวลา สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทุกขณะการขนส่ง (Real Time) และสามารถสอบถามความพึงพอใจของลูกค้าได้ทันที อีกทั้งยังช่วยควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากแพลทฟอร์มนี้จะเก็บบันทึกต้นทุนค่าใช้จ่ายและแสดงผลออกมาให้ร้านผู้แทนจำหน่ายสามารถบริหารจัดการต่อได้ อีกทั้งร้านผู้แทนจำหน่ายยังสามารถทราบตารางรถขนส่งเพื่อให้สามารถบริหารรถที่มีอยู่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และลดขั้นตอนการจัดเที่ยวรถได้ โดยปัจจุบันมีร้านผู้แทนจำหน่ายเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 100 ราย มีรอบการขนส่งสินค้าไปให้ลูกค้าเฉลี่ย 32,000 เที่ยวต่อเดือน ครอบคลุม 50 จังหวัดทั่วประเทศ และยังคงเติบโตต่อเนื่องอีกร้อยละ 20 ต่อเดือน นอกจากนี้ เอสซีจี และ GIZTIX ยังร่วมกันบริหารการจัดการข้อมูลที่ได้จากการใช้งาน เพื่อนำมาพัฒนาแพลทฟอร์มให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้แทนจำหน่ายได้ดียิ่งขึ้น
ด้านนายสิทธิศักดิ์ ระบุว่า การร่วมมือกันครั้งนี้นอกจากการเข้ามาร่วมลงทุนของ SCG แล้ว ยังเป็นการร่วมส่งเสริมเทคโนโลยีและแนวคิดในด้านต่าง ๆ ให้กับบริษัท โดยเราได้มุ่งเน้นการจัดหาระบบโปรแกรมจัดการและบริหารงานขนส่งเพื่อบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ร่วมกับธุรกิจจัดจำหน่ายและช่องทางการค้าปลีกของเอสซีจีมาตั้งแต่ปี 2561 ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการรถขนส่ง 2 ส่วน ได้แก่ 1.) การใช้ระบบออนไลน์ โดยบริการ Online Trucking Service และ 2.) การใช้ระบบโปรแกรมจัดการและบริหารงานขนส่งสำหรับบริษัทคนขนส่งและคนขับรถ (Transportation Management System – TMS) เพื่อช่วยบริหารจัดการรถขนส่งสำหรับร้านผู้แทนจำหน่ายของเอสซีจี ซึ่งได้มีการพัฒนาทั้งการจัดตารางเที่ยวรถ ระบบรายงานและแจ้งสถานะแบบออนไลน์ การบันทึกจัดทำต้นทุน และรายงานการขนส่ง ที่จะสามารถช่วยลดภาระงานและบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเอสซีจีได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำและพัฒนากระบวนการทำงานของร้านผู้แทนจำหน่าย พร้อมทั้งทดสอบ และประสานงานร่วมกับร้านผู้แทนจำหน่ายในการปรับปรุงระบบดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
นายสิทธิศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า หนึ่งในปัญหาที่บริษัทพบคือผู้จัดจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง มีวิธีการขนส่งจึงเป็นระบบแมนนวล ดังนั้นการทำให้ตัวแทนจัดจำหน่ายสามารถที่จะทำงานบนระบบดิจิทัลและเรียกรถได้เมื่อต้องการจึงเป็นเรื่องที่บริษัทต้องการที่จะมาตอบโจทย์ในจุดนี้ ที่ผ่านมาตัวแทนจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างมักโทรหาคนขับหรือ LINE หาคนขับซึ่งเป็นระบบที่มีโอกาสเกิดข้อบกพร่องได้ เป้าหมายที่ต้องการจะทำให้ผู้ประกอบการตัวแทนจำหน่ายธุรกิจก่อสร้างคือนำผู้ประกอบการเหล่านั้นก้าวเข้ามาสู่โลกออนไลน์ ซึ่งจุดเด่นของ GIZTIX คือ ความรวดเร็วในการให้บริการ ลดความผิดพลาดในการจัดส่งรวมถึงการลดต้นทุนให้กับตัวแทนการจัดจำหน่าย นอกจากการใช้งานที่ง่ายแล้วต้องการที่จะ ขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก(SMEs)มากยิ่งขึ้นด้วย สำหรับผลการประเมินที่ผ่านมาสามารถลดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 15 ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการส่งสินค้าผิดพลาดหรือการโทรหาคนขับและการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้มองว่าธุรกิจการส่งสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประเทศไทยถือว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคอาเซียน ด้วยความได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อเทียบกับแอปพลิเคชันอื่น ๆ ของประเทศเพื่อนบ้านถือว่าด้านเทคโนโลยีประเทศไทยไม่ได้แพ้ประเทศอื่น ๆ เลย
สำหรับแผนความร่วมมือของ SCG และ GIZTIX ในปี 2563 จะเน้นในการพัฒนาและปรับปรุงระบบในการบริหารจัดการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเชื่อมโยงการใช้งานต่าง ๆ ให้การบริหารจัดการรถขนส่งง่ายมากขึ้น ทั้งการขยายการให้บริการครอบคลุมร้านตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง รวมทั้งยังมีการนำ AI และ Blockchain เข้ามาช่วยในการทำงานให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะมีการพัฒนาระบบบริหารจัดการพื้นที่บนรถขนส่ง(Space Utilization) และการบริหารจัดการเส้นทาง(Route Optimization)ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งจะมีการพัฒนาระบบไร้เงินสดสำหรับคนขับเพื่อใช้ในการเติมน้ำมันและชำระค่าบริการออนไลน์ภายในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น