ปัจจุบันรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับระบบขนส่งมากขึ้น เพราะต้องการยกระดับและพัฒนาระบบขนส่งในประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านระบบขนส่งในประชาคมอาเซียน ( Logistics Hub ) และเร่งพัฒนาโครงสร้างการขนส่งให้สามารถเชื่อมกันได้หลากหลายรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งมากขึ้น นอกจากนี้ยังเร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการพัฒนาตนเองและระบบการบริหารจัดการธุรกิจได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ISO 9001 เพื่อยืนยันว่าองค์กรมีประสิทธิภาพ และเพื่อความมั่นใจต่อผู้ที่ต้องการมาลงทุน
ระบบขนส่งในประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงการค้าในตลาดได้ดีที่สุด และยังเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอื่นๆอีกมากมาย อีกทั้งประเทศไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานของระบบขนส่งที่ทันสมัย ทำให้ระบบขนส่งในประเทศไทยถูกโฟกัสจากต่างประเทศมากขึ้นซึ่งระบบขนส่งของประเทศไทยในปัจจุบันมีมูลค่ารวมประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อปี โดยแบ่งออกเป็นผู้ประกอบการกลุ่มทุนไทยและบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ 70 % และกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กรวมกัน 30 % ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562) ประเทศไทยมีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ จำนวนทั้งสิ้น 24,852 ราย แบ่งเป็น การขนส่งทางบกและระบบท่อลำเลียง 17,788 ราย (คิดเป็นร้อยละ 71.58) ตัวแทนออกของ 3,571 ราย (คิดเป็นร้อยละ 14.37) การบริหารจัดการเกี่ยวกับสินค้า 1,116 (คิดเป็นร้อยละ 4.49) คลังสินค้า 776 ราย (คิดเป็นร้อยละ 3.12) การขนส่งทางน้ำ 655 ราย (คิดเป็นร้อยละ 2.64) การขนถ่ายสินค้า 640 ราย (คิดเป็นร้อยละ 2.58) การขนส่งทางอากาศ 186 ราย (คิดเป็นร้อยละ 0.75) ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและอื่นๆ 120 ราย (คิดเป็นร้อยละ 0.47) ( กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, 2562 )