หลายคนในหลากหลายประเทศทั่วโลกต่างต้องประสบพบเจอปัญหาที่น่าหงุดหงิดและชวนปวดหัวไม่น้อย สำหรับการจราจรที่ติดขัดและปัญหามลพิษทางอากาศ ถึงแม้ว่าในบางประเทศ จะหาทางออกด้วยมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมยานพาหนะ เพิ่มระบบขนส่งมวลชนต่างๆ เพื่อหวังว่าจะช่วยลดความแออัดลง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ทางออกที่ดีสักเท่าไหร่นัก โดยทางเว็บไซต์ www.tomtom.com ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันการเดินทาง รายงานเมืองที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุดพบว่า กรุงเทพมหานคร ติดอันดับที่ 8 ขณะที่ มุมไบ ประเทศอินเดีย ครองแชมป์อันดับ 1 แต่ทว่าอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจที่ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้เช่นกัน ได้เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีการเดินรถคล้ายกับ Hyperloop ที่สามารถวิ่งบนท้องถนน โดยมีชื่อเรียกว่า Arrivo
Arrivo เป็นบริษัท Startup ซึ่งก่อตั้งโดย Brogan BamBrogan แผนกวิศวะกรรมของ SpaceX เมื่อปี 2016 ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งร่วมของ HyperloopOne (ปัจจุบันใชชื่อ Virgin Hyperloop One) โดยที่เน้นทำเทคโนโลยี Hyperloop ที่มีแรงบันดาลใจและต้นแบบมาจาก Hyperloop ของทาง อีลอน มัสต์ ซึ่ง Hyperloop เป็นระบบขนส่งในท่อที่ใช้แรงดันอากาศ เพื่อเคลื่อนที่ตัวรถหรือยานพาหนะ โดยสามารถวิ่งด้วยความเร็ว 1,000 – 1,200 Km/Hr.
แต่ทาง Arrivo ปรับเทคโนโลยีในการวิ่งของรถเพื่อเป็นของตัวเอง วิธีการคือการนำรถหรือสิ่งของ บรรทุกไว้บนรถของทาง Arrivo และเคลื่อนที่ไปบนถนน ที่ตั้งขนานไปกับถนนเดิมที่มีอยู่ ซึ่งแตกต่างจากการขนส่ง Hyperloop เพราะไม่ได้ใช้แรงดันอากาศภายในท่อหรืออุโมงค์ที่สร้างแยกขึ้นมา Arrivo สามารถวิ่งด้วยความเร็ว 300-320 Km./Hr. แม้จะเร็วไม่เท่ากับ Hyperloop แต่ถ้าเทียบกับรถยนต์ปัจจุบัน ก็ถือว่าเร็วกว่าถึง 3-5 เท่า
เริ่มแรกทาง Arrivo ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก Genertec ซึ่งเป็นบริษัทจีน ที่ได้รับเงินทุนมาจากรัฐบาลจีน โดยจากการเปิดเผยของทาง Arrivo ได้รับเงินเป็นจำนวน 1,000 ล้านดอลลาห์สหรัฐ เพื่อสร้างระบบขนส่งเต็มรูปแบบ แต่เมื่อปลายปี 2018 ทางตัวบริษัทเองต้องปิดตัวลง เนื่องจากมีปัญหาทางด้านการเงิน และได้หยุดการพัฒนาเทคโนโลยีในส่วนนี้ไป
Brent Lessard ผู้ก่อตั้งบริษัท rLoop เปิดเผยว่าดีลบางส่วนของทาง Arrivo จะถูกดำเนินการต่อ ทั้งการทดสอบวิ่งรถในรอบนอกเมืองเดนเวอร์ ในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งจะกลับมาจ้างพนักงาน Arrivo บางส่วนกลับมาทำงาน ซึ่งทาง Brent เองมั่นใจว่าตอนนี้อยู่ในส่วนของขั้นตอนสุดท้ายในการพัฒนาตัวรถ ซึ่งอาศัยเทคนิคการลอยแบบแม่เหล็ก
ถือว่าเป็นข่าวดีของโลกที่โปรเจคการพัฒนาระบบขนส่งความเร็วสูงบนถนนจะกลับมาพัฒนา เชื่อว่าหากเทคโนโลยีนี้สำเร็จและได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย จะเป็นประโยชน์อย่างมากในงานขนส่ง ทั้งในเรื่องของเวลา, ความปลอดภัย, ต้นทุนค่าใช้จ่าย, อีกทั้งยังช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย ทั้งนี้หากประเทศไทยนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งาน ในหลายๆภาคส่วนจะมีการพัฒนาได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก : Reddit-born engineering group buys leftovers of failed hyperloop startup Arrivo, SpaceX’s hyperloop race was a milestone for the futuristic transportation system, Hyperloop startup Arrivo is shutting down as workers are laid off, Arrivo partners with a Chinese state-owned infrastructure developer to commercialize hyperloop tech