จากวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม หลายคนเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานที่บ้าน(Work from home) บวกกับการที่มีเด็ก ๆ ปิดเทอมระยะยาว จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าทำงานตลอดทั้งวัน เช่น เปิดแอร์นานขึ้น เปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง หรือแช่อาหารในปริมาณที่มากขึ้น การประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น เพราะเมื่อต้องทำงานที่บ้านบางคนถึงขั้นอาจต้องเปิดคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา
แต่ก่อนที่เราจะหาวิธีประหยัดไฟ เราควรเข้าใจสาเหตุของค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นกันก่อน เนื่องจากฤดูร้อนของประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดมีอุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ที่ 36-40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นทำงานมากขึ้นและใช้ไฟฟ้ามากขึ้นในระยะเวลาการใช้งานที่เท่ากันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องปรับอากาศ ในทางกลับกันในช่วงฤดูหนาว หรือสภาวะอากาศปกติมีอุณหภูมิในห้องก่อนเปิดแอร์อยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้อง 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิจะต่างกันเพียง 4 องศาเซลเซียส จึงทำให้การทำงานของแอร์น้อยกว่าในช่วงฤดูร้อนหรือสภาพอากาศที่ร้อน หากเราเข้าใจถึงสาเหตุของค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้น เราก็จะสามารถช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นได้
1. ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังใช้งาน
ข้อนี้ถือว่าเป็นทั้งวิธีประหยัดค่าไฟและช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับบ้านและทรัพย์สินของเราไปพร้อมกัน เพราะว่าเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นต่อให้เราไม่ได้ใช้งาน แต่หากเราเสียบปลั๊กไว้ กระแสไฟก็จะยังคงวิ่งอยู่ ซึ่งในส่วนนี้ จะทำให้เรามีค่าไฟเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุนั่นเอง โดยเฉพาะกับเครื่องคอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ ที่อยู่ในโหมด Standby หรือ โหมด Sleep นั้น หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าไม่ได้ใช้ไฟฟ้า แต่อันที่จริงนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ ยังคงต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อนำไปเลี้ยงการทำงานที่เราเปิดค้างไว้อยู่
2. เปิดพัดลมแทนการเปิดแอร์
หากเราก็ยังไม่อยากเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็แนะนำวิธีประหยัดค่าไฟโดยให้เปิดพัดลมแทน ไม่ว่าจะเป็น พัดลมเพดาน พัดลมตั้งพื้น หรือพัดลมแบบอื่น ๆ ก็ได้ทั้งนั้น เพราะการเปิดพัดลมนั้นนอกจากจะทำให้เราเย็นสบายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกมากขึ้นอีกด้วย และข้อสำคัญก็คือ ยังเป็นวิธีประหยัดค่าไฟให้เราได้อย่างมากอีกด้วย
3. อย่าปรับแอร์เย็นเกินไป
หากว่าเราทนอากาศร้อนไม่ไหวจริง ๆ จนต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็ขอแนะนำว่าอย่าปรับอุณหภูมิให้ต่ำจนเกินไป เพราะจะทำให้เราเปลืองค่าไฟ วิธีประหยัดค่าไฟถ้าเราต้องเปิดแอร์คือเราควรปรับอุณหภูมิแค่พอประมาณที่ 25 องศา ก็พอ เพราะถือเป็นอุณหภูมิที่ไม่ร้อน หรือเย็นจนเกินไป เป็นอุณหภูมิที่ไม่ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักจนเกินไป และยังเป็นวิธีประหยัดค่าไฟที่ดีอีกด้วย
จากงานวิจัยบอกว่าการเปิดลมที่ความเร็ว 20กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือที่เบอร์3 จะทำให้อุณหภูมิลดลง 2 องศา ดังนั้นถ้าเราเปิดพัดลมควบคู่กับแอร์ จะทำให้ได้อุณภูมิตามที่เราอยากได้ และประหยัดไฟกว่าการลดอุณหภูมิแอร์อย่างเดียวไปที่23 องศา โดยที่ไม่ต้องกลัวแอร์ทำงานหนักอีกด้วย
4. ตั้งเวลาเปิด-ปิดแอร์
วิธีประหยัดค่าไฟ หากว่าเราเปิดเครื่องปรับอากาศในเวลานอนนั้น ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่เราตั้งเวลาปิดเครื่องปรับอากาศไว้ ก่อนที่เราจะตื่นประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะถ้าหากห้องเรานั้นปิดประตูอย่างมิดชิด อากาศเย็นจะอยู่ได้อีกสักพักใหญ่หลังจากที่เราปิดเครื่องปรับอากาศไป
5. เลือกมุมทำงานมุมเดียว
ตั้งเวลาการใช้ไฟเหมือนที่ทำงาน 9.00 เว้นเที่ยง และปิดตอน 17.00 : กำหนดเวลาการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชัดเจน แน่นอนว่า ในบางเวลาเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างก็ไม่จำเป็น การกำหนดเวลาที่ชัดเจนจะทำให้เราเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ